คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ก.ย. 2554 10:30:40

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีมีโทษถึงประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาจึงอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามแล้วผู้ต้องหาไม่มีทนายความ เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าวจำเลยไม่ขอให้การโดยจะไปให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ขอให้ศาลริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่า จำเลยใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยถูกจับขณะขับรถยนต์ที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 12,000 เม็ด อาวุธปืนซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ซองกระสุนปืน 1 ซอง กับกระสุนปืนออโตเมติกขนาด 9 มม. จำนวน 11 นัด ดังนั้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใด ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงและมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งที่มิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32
การที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมว่ากระทำความผิดตามฟ้องถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102

ผู้พิพากษา

ฐานันท์ วรรณโกวิท
อัปษร หิรัญบูรณะ
ชัยยันต์ ศุขโชติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android