คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ส.ค. 2554 10:10:05

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นการถึงแก่กรรมระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 และเจ้าหน้าที่ศาลได้รายงานผลการส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ว่า ส่งไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้ว พร้อมทั้งได้เสนอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าศาลชั้นต้นทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น ศาลชั้นต้นต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และดำเนินการเพื่อให้มีคู่ความเข้าแทนที่คู่ความที่ถึงแก่กรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 แล้วส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คืนศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อสั่งเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมและมีคำพิพากษาใหม่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งประการใดตามที่เจ้าหน้าที่ศาลเสนอรายงานผลการส่งหมายแจ้งนัดดังกล่าวและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไป แม้ในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะมีผู้ที่จำเลยทั้งสองเคยแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบฉันทะของจำเลยทั้งสองได้มาฟังคำพิพากษาแทน แต่ศาลชั้นต้นทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้วและยังไม่มีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยมิได้ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ของศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบ ต่อมาเมื่อพ้นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาได้ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาได้ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 รวมทั้งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27

ผู้พิพากษา

มนูพงศ์ รุจิกัณหะ
ประทีป เฉลิมภัทรกุล
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android