คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9089/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 ต.ค. 2554 09:55:12

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และวรรคสอง บัญญัติให้พนักงานอัยการแจ้งให้เลขาธิการทราบว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์พอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นของแผ่นดินได้ ส่วนมาตรา 49 วรรคสาม บัญญัติว่าเมื่อเลขาธิการดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ส่งเรื่องเพิ่มเติมให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หากพนักงานอัยการยังเห็นว่าไม่มีเหตุผลพอที่จะยื่นคำร้องต่อศาล ให้พนักงานอัยการรีบแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใด ให้พนักงานอัยการและเลขาธิการปฏิบัติตาม ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คือ "เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภทได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปอีก ทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเหล่านั้นและโดยที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้" แสดงให้เห็นว่าเพียงแต่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินก็มีอำนาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และหากพนักงานอัยการเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสมบูรณ์พอ พนักงานอัยการก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่มีคำพิพากษาว่ามีผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่หากมีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาล และพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49

ผู้พิพากษา

วัส ติงสมิตร
นพวรรณ อินทรัมพรรย์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android