คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ส.ค. 2554 10:12:37

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่มาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
การพิสูจน์สิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม จำต้องพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่คู่ความนำสืบต่อศาล เพื่อแสดงถึงสิทธิและการได้มาของโจทก์ว่ามีลำดับความเป็นมาอย่างไร ลำพังบันทึกการแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งระบุว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันซื้อมาเพียงฉบับเดียวไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานที่จะอ้างอิงเพื่อที่จะยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น และมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมานำสืบพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอย่างไร ทั้งโจทก์ก็มิได้ตั้งรูปคดีอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 โดยอาศัยข้อความจากบันทึกดังกล่าวแต่ประการใด
จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัท ล. และจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ในบริเวณที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจนมีบุตรด้วยกันถึงเก้าคนและโจทก์ได้ร่วมช่วยเหลือกิจการของบริษัท ล. แม้โจทก์เป็นภริยานอกสมรสก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์เท่านั้น ดังนี้ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง
เมื่อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 85
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357

ผู้พิพากษา

มนตรี ยอดปัญญา
ดิเรก อิงคนินันท์
วีระพล ตั้งสุวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android