คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 14 ก.ค. 2554 14:52:10

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การอ้างมูลแห่งการฟ้องร้องที่ต่างกันระหว่างมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลกับมูลเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนนั้นย่อมมีผลต่อรูปคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องหน้าที่นำสืบที่ต่างกัน โดยในมูลที่ฟ้องว่า ผู้ขนส่งปฏิบัติผิดสัญญารับขนนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่งมีหน้าที่นำสืบเพียงว่า สินค้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่ง และเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งจะต้องสืบแก้ว่า ความสูญหายนั้นเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 52 (1) ถึง (13) แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ แต่ในการฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาทรัพย์คืนเพราะทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้ขนส่ง ไม่ได้สูญหายไปแล้วนั้น โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า ทรัพย์ยังคงอยู่ที่ผู้ขนส่งโดยผู้ขนส่งได้ยึดถือทรัพย์ไว้โดยมิชอบ
คดีนี้ลักษณะของการกล่าวอ้างยืนยันตามคำบรรยายฟ้องก็เพื่อที่จะนำสืบพิสูจน์เพียงว่า สินค้าสูญหายไปในระหว่างขนส่งเท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างยืนยันเพื่อที่จะนำสืบพิสูจน์ว่าทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้ขนส่งโดยผู้ขนส่งยึดถือไว้โดยไม่ชอบ จึงเป็นเรื่องการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องอายุความว่า นับแต่เวลาอันควรส่งมอบสินค้าจนถึงวันฟ้องคดีล่วงเลยอายุความที่จะต้องฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายของสินค้าไปแล้ว และข้อเท็จจริงปรากฏว่าเรือเข้าเทียบท่าปลายทางตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ซึ่งควรจะมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในวันดังกล่าวหรือในระยะเวลาไม่ห่างจากเวลาเรือเทียบท่ามากนัก แต่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 อันเป็นเวลาหลังจากเวลาอันควรส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง 3 ปีเศษ และเป็นเวลาหลังจากที่บริษัท ซ. เรียกร้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเพราะสินค้าได้สูญหายไประหว่างเรือขนส่งสินค้าถ่ายลำที่ประเทศสิงคโปร์ถึง 3 ปีเศษแล้วเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ บัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งมอบของ หรือถ้าไม่มีการส่งมอบนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบตามมาตรา 41 (1) หรือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา 41 (2) ให้เป็นอันขาดอายุความ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ที่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลดังกล่าวจึงขาดอายุความ 1 ปี ตามบทมาตราดังกล่าวแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 41
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7

ผู้พิพากษา

ฐานันท์ วรรณโกวิท
พลรัตน์ ประทุมทาน
ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android