คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ก.ค. 2554 09:53:02

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลที่โจทก์ในฐานะผู้ส่งทำสัญญาว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทางตามกำหนดเวลา แต่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นขนส่งสินค้าด้วยความล่าช้าทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สลักหลังและส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อสินค้าพิพาทไป แต่กลับรับมอบสินค้าพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วนำสินค้าพิพาทออกขายทอดตลาด จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยอมส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทที่ขนส่งเสียหายเพราะความล่าช้าและไม่ปรากฏว่ามีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาและใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังอยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามมูลสัญญารับขนของทางทะเลที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นในความเสียหายของสินค้าพิพาทระหว่างการขนส่งได้ ส่วนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องว่ากล่าวต่อกันตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งความตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะตามใบกำกับสินค้า หรืออาจตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันภายหลังจากที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายนั้นๆ ไม่มีผลต่อสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเล และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ผู้ส่งว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่แรก จนกระทั่งเป็นผู้ออกใบตราส่ง ซึ่งเป็นใบตราส่งที่ใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะเดียวกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องเป็นสำนักงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าหมายถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 หรือไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการพิพากษาให้รับผิดนอกเหนือจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ให้เห็นถึงขนาดที่ว่าการที่เครื่องยนต์เรือขัดข้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 3 ละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องในครั้งพิพาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะเหตุแห่งการล่าช้าในระหว่างการขนส่ง แต่ก็ยังมีสิทธิอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ได้หากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เกินกว่าข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายเมื่อสินค้าพิพาทตามใบตราส่งคือาหารกุ้งจำนวน 4,480 ถุง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 หน่วยการขนส่งในการขนสั่งครั้งนี้จึงได้แก่ 4,480 หน่วย ซึ่งผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 เงินที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดได้คือ 44,800,000 บาท ค่าเสียหายที่กำหนดจำนวน 850,000 ยาท จึงอยู่ในวงเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดดังกล่าว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 36
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

ผู้พิพากษา

สมศักดิ์ เนตรมัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android