คำพิพากษาย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องว่าสามีโจทก์นำสินสมรสออกให้จำเลยที่ 1 กู้ และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนสามีโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าสามีโจทก์จัดการสินสมรสโดยฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1476 (เดิม) และมาตรา 1476 (5) ใหม่ โจทก์ในฐานะคู่สมรสฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้กู้เงินและการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ไว้ ซึ่งเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จะนำบทบัญญัติกรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพย์สินติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตามมาตรา 1336 และบทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1357 ถึง 1366 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้
แม้ปรากฏว่าสามีโจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินในปี 2528 อันเป็นเวลาก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 10)ฯ ใช้บังคับ และแม้โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นเวลาที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 63 ให้ใช้กฎหมายก่อนการแก้ไขบังคับซึ่งการเพิกถอนการให้กู้เงินกรณีเช่นนี้ มาตรา 1480 วรรคสาม (เดิม) บัญญัติให้นำความมาตรา 240 มาใช้บังคับโอยอนุโลม อันหมายความว่า โจทก์ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่รู้เหตุให้เพิกถอนหรือสิบปีนับแต่วันทำนิติกรรมดังกล่าว ดังนั้น ฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการกู้เงินระหว่างสามีโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำนิติกรรม ส่วนกรณีที่สามีโจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนสามีโจทก์นั้น ระยะเวลาการเพิกถอนนิติกรรมตามกฎหมายทั้งสองฉบับคงเหมือนเดิม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวอย่างช้าภายในเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งเกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความทั้งสองกรณี