คำพิพากษาย่อสั้น
ในการพิพากษาคดี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยทั้งเจ็ดขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นพิพากษาข้ออื่นๆ อีก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานละเมิดแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ แม้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ ไว้ เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งเจ็ดได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ที่ยังมิได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้คดีเสร็จไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก็ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยโจทก์ที่ 1 มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 แต่คำสั่งดังกล่าวสรุปการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการทุจริต หากแต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องเท่านั้น โจทก์ที่ 2 จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง แต่ผลการสอบสวนก็ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2538 อธิบดีกรมการปกครองมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความได้ว่า กองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบวันที่ 14 ตุลาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 จึงต้องถือว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพิ่งรู้ตังผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการเป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง เพราะหลักเกณฑ์ความรับผิดทางวินัยกับความรับผิดทางแพ่งเป็นคนละกรณีกัน การบกพร่องต่อหน้าที่ราชการซึ่งต้องรับผิดทางวินัยอาจไม่เข้าเกณฑ์ความรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดก็ได้ เมื่อผลของคำสั่งลงโทษทางวินัยยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือไม่ โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีกได้ มิใช่เป็นการกระทำโดยไม่ชอบหรือมีเจตนากระทำเพื่อขยายอายุความฟ้องคดีละเมิด
บทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางอาญาและในทางแพ่ง เป็นคนละส่วนแยกออกต่างหากจากกันดังนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ทั้งสองก็ฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ทั้งสองได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสองโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความและได้วินิจฉัยด้วยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ต่างมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ตั้งประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำไว้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 5แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 หวนกลับมาหยิบยกประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำขึ้นกล่าวอ้างอีก จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 บรรยายไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการด้วยกัน และจำเลยที่ 6 กับที่ 7 ซึ่งเป็นเอกชน จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย และขอให้บังคับจำเลยทุกคนชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โดยระบุรายละเอียดด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอะไร และจำเลยแต่ละคนมีส่วนปฏิบัติหน้าที่ในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ในฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ด้วย ความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกันให้ดี ไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอและไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจข้อหา และสามารถให้การต่อสู้คดีของโจทก์ทั้งสองได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
สัญญากู้เป็นเพียงเครื่องมือที่จำเลยทั้งเจ็ดใช้ในการฉ้อฉลกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองก็มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน หากแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบที่จะนำข้อตกลงในสัญญากู้มาอ้างว่าโจทก์ทั้งสองอาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนท้ายได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนต้น