คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4144/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ก.ค. 2554 10:36:04

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม ป.รัษฎากร ในหมวด 3 เรื่องภาษีเงินได้ในส่วน 1 ข้อความทั่วไปและส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บ ภาษีเงินเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อได้รับเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 เว้นแต่ไม่ถึงเกณฑ์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ ผู้มีเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้มาในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งข้อความอื่นๆ ภายในเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 56 จากหลักเกณฑ์ตาม ป.รัษฎากรดังกล่าว ผู้มีเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่ต้องประเมินภาษีเงินได้โดยตนเองแล้วยื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นหากจำเลยที่ 1 มีเงินได้พึงประเมินที่ถูกต้องแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ภาษีอากรภายในเดือนมีนาคมของแต่ละปีภาษีถัดไปตามที่ ป.รัษฎากร บัญญัติบังคับไว้ หาใช่หนี้ภาษีอากรจะถึงกำหนดในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีภาษีอากรแต่อย่างใดไม่ ทั้งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้างซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้และจำเลยที่ 1 ก็เป็นลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรและอยู่ในความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 237 แล้ว
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อันมีราคาประเมิน 110,289,400 บาท ซึ่งมีค่ามากที่สุดในจำนวนทรัพย์สินที่อยู่ในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หานั้น ทำให้ทรัพย์สินที่อยู่ในนามของจำเลยที่ 1 น้อยลงไปอีก ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบและไม่ได้โต้แย้งในฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นที่พอนำมาชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระได้ครบถ้วน แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์สามารถติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้เพียงพอแก่การได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่ให้ครบถ้วน อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ภาษีอากรเสียเปรียบและเป็นการโอนให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาจึงต้องถูกเพิกถอนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคแรก
เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ให้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของคำพิพากษา ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติโดยการแสดงเจตนาอีกจึงไม่จำต้องส่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนการโอนที่ดินให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 56
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 39
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 12
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ผู้พิพากษา

ชาลี ทัพภวิมล
ดิเรก อิงคนินันท์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android