คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3084/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ส.ค. 2555 10:06:42

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สัญญาเช่าช่วงกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุผลพร้อมหลักฐานอันสมควรเป็นลายลักษณ์อักษรแก่โจทก์หากประสงค์จะบอกเลิกสัญญา แต่ปรากฏว่าจำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุผลหรือหลักฐานใด ๆ ดังนั้น สัญญาเช่าช่วงจึงยังไม่เลิกกันตามที่จำเลยแสดงเจตนาไป แต่หลังจากนั้นแล้วจำเลยมิได้ดำเนินการอะไรขึ้นใหม่อันเป็นการแสดงว่าประสงค์จะกลับเข้าดำเนินการตามสัญญาต่อไปอีก จึงต้องถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเสนอเลิกสัญญาเช่าช่วงต่อไปไม่มีกำหนดเวลา สำหรับฝ่ายโจทก์แม้ไม่เห็นด้วยกับการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวของจำเลยโดยมีหนังสือไปถึงจำเลยชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายกับเรียกให้จำเลยส่งแผนผังการก่อสร้างไปให้โจทก์ตรวจตามสัญญาเช่าช่วงแต่มิได้มีการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดี กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าสัญญาเลิกกันโดยจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อโจทก์ฟ้องคดีได้มีคำขอให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกการเช่าช่วงที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเป็นการสนองรับการบอกเลิกสัญญาของจำเลย ทำให้สัญญาเช่าช่วงพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันโดยปริยาย โดยยังไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาได้ แต่เป็นกรณีที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
จำเลยได้ตอกเสาเข็มลงในที่ดินพิพาท ต่อมามีเหตุจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยมีหน้าที่ต้องถอนเสาเข็มเหล่านี้ออกไปเพื่อทำที่ดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย อย่างน้อยหากโจทก์จะสร้างอาคารในลักษณะเดียวกันเสาเข็มเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ แต่ถ้าโจทก์ต้องมีการก่อสร้างอย่างอื่นเสาเข็มนี้ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้และต้องมีการรื้อถอน โจทก์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่จำเลยไม่สามารถทำให้โจทก์กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นกรณีใด แต่สำหรับทางได้เสียและความเสี่ยงในปัจจุบันโจทก์มีมากกว่าเมื่อปรารถนาถึงความรับผิดชอบของการทำให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิมด้วยการรื้อถอนเสาเข็มทั้งหมดตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลย แต่เป็นกรณีที่ทำได้ยากมากและไม่สมควรทำอันเป้นสาเหตุให้โจทก์ได้รับความเสี่ยง ถือเป็นความเสียหายในปัจจุบันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386

ผู้พิพากษา

สุรศักดิ์ กิตติพงษ์พัฒนา
ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช
วรพจน์ วิไลชนม์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android