คำพิพากษาย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ข้อ 1. จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ข้อ 2. โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขาย โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ และข้อ 3. ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงไร โดยในชั้นพิพากษาศาลชั้นต้นได้รวมประเด็นข้อพิพาทเป็นข้อเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์สามารถขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นก็ยังคงสาระสำคัญในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิม คงมีแต่ถ้อยคำที่แตกต่างกันไป เพื่อความสะดวกในการวินิจฉัยเท่านั้น จึงไม่เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่หรือแก้ไขในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจนถึงกับเป็นเรื่องนอกประเด็นข้อพิพาท
เมื่อศาลชั้นต้นคงสาระสำคัญในประเด็นข้อพิพาทในเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิมดังที่ชี้สองสถานไว้ กรณีจึงยังคงมีประเด็นดังที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขายโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งจำเลยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และจดทะเบียนโดยไม่สุจริต แม้ว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนเพื่อความสะดวกในการพิจารณา ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะภาระการพิสูจน์นั้นมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่าจะตกแก่คู่ความฝ่ายใดไม่อาจเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามกฎหมายไปตามคำสั่งศาล
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จำเลยจะพิสูจน์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและจดทะเบียนโดยไม่สุจริตนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังยุติตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่โจทก์ซื้อหรือมีกรรมสิทธิ์และจำเลยให้การปฏิเสธไว้ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้โดยชัดแจ้ง และจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ แต่ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้สละประเด็นข้อพิพาทนี้ดังที่โจทก์ฎีกา เพราะประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์หรือไม่นั้น เป็นที่มาซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดในชั้นชี้สองสถานหรือในคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลย จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าวดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องหรือไม่เพราะถ้าเป็นที่ดินคนละแปลงกัน การแย่งการครอบครองตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยเป็นประการแรกชอบแล้ว ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 142