คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ค. 2554 15:31:06

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายช้อนส้อมเช่นเดียวกับที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์และต้องหยุดดำเนินการไป นับได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบหรือถูกโต้แย้งสิทธิแต่ผู้เดียวในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะกล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64 วรรคสอง ได้ความว่าช้อนส้อมของโจทก์มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยจะขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งการตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ได้พิจารณาถึงแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1) และเมื่อไม่ปรากฏว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยแตกต่างจากช้อนส้อมของโจทก์ เท่ากับว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยมีหรือใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรและถือว่าไม่มีความใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1)
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 56 ต้องประกอบด้วยลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
การที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยไม่มีความใหม่ ย่อมจะไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยจึงได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ถือเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 64
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
พลรัตน์ ประทุมทาน
เอกชัย ชินณพงศ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android