คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ส.ค. 2555 10:06:55

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ผู้ตายได้เขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ และลงลายมือชื่อของผู้ตายไว้แล้วส่วนที่ จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานไม่พร้อมกับพยานอีกคนหนึ่งในพินัยกรรมนั้นก็หาทำให้พินัยกรรมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 เพียงบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนพินัยกรรมด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนเท่านั้น หาได้บังคับให้ต้องมีพยาน 2 คน รับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันไม่
ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า การที่ผู้ร้องยังคงต่อสู้คดีและดำเนินคดีต่อไปเป็นการคัดค้านแล้วว่า พินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ใช่ของผู้ตายนั้นก็หามีกฎหมายใดบัญญัติดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ และที่ผู้ร้องฎีกาอ้างต่อไปว่า หากฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวจริงก็เป็นการทำขึ้นในขณะสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เพราะมีการยกทรัพย์ที่ได้โอนขายไปก่อนทำพินัยกรรมหรือทำเพราะถูกข่มขู่นั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างว่าขณะผู้ตายทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์หรือทำเพราะถูกข่มขู่ แต่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านทั้งสอง อ. และ ส. ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ฎีกาดังกล่าวของผู้ร้องจึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 จึงต้องฟังว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์มิได้ทำเพราะถูกข่มขู่ และมีผลเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิเคราะห์ตามพินัยกรรมฉบับหลังซึ่งเป็นแบบเขียนเองทั้งฉบับแล้ว มีข้อกำหนดยกทรัพย์มรดกของผู้ตายและที่จะมีต่อไปในภายหน้าให้ผู้คัดค้านทั้งสอง อ. และ ส. บุคคลอื่นขอตัดมิให้รับมรดกและห้ามเกี่ยวข้อง ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายอันมีผลทำให้ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ได้รับประโยชน์หรือมีสิทธิใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713
แม้คดีนี้เริ่มคดีโดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้ซึ่งถือว่าเป็นคู่ความและศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีอันมีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องเป็นฝ่ายแพ้คดีความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมจึงตกอยู่แก่ผู้ร้อง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608

ผู้พิพากษา

อัปษร หิรัญบูรณะ
ฐานันท์ วรรณโกวิท
ชัยยันต์ ศุขโชติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android