คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ส.ค. 2555 10:07:08

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 10 (7) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา 39 และมาตรา 39 บัญญัติว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล..." ดังนี้ อำนาจในการดำเนินคดีของโจทก์จึงเป็นอำนาจตามกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนที่บัญญัติให้อำนาจและกำหนดเป็นหน้าที่ไว้ด้วย อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหาได้เกิดจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้บริโภคทั้งสามตามลักษณะตัวแทนในกฎหมายแพ่งไม่
ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระแก่ผู้บริโภคทั้งสามในคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซึ่งจำเลยจำต้องให้ผู้บริโภคทั้งสามได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสาม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยโดยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสองซึ่งเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งสามได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม หาใช่เป็นดอกเบี้ยค้างชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) ดังที่จำเลยฎีกาไม่
แม้พนักงานอัยการจะได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีของรัฐ แต่หากพนักงานอัยการได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างทนายความในคดีแพ่งตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 11 โดยมีการแต่งตั้งทนายความถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 ศาลก็มีอำนาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีซึ่งได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความได้ เนื่องจากค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 แต่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) ให้พนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแก่จำเลยผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง การดำเนินคดีของพนักงานอัยการในคดีนี้จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของโจทก์แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีใช้ค่าทนายความแทนโจทก์
แม้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 39 วรรคสอง จะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ดำเนินคดีในศาลในการฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคก็ตาม แต่เมื่อเป็นคดีแพ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีศาลจำต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) และมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android