คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3401/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 มี.ค. 2554 09:52:01

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์คืนเงินของจำเลยที่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยนำไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องแย้งเรียกเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไปล่วงหน้าคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/4 (9) และสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30
จำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในการทำงานช่วงก่อนครบเกษียณอายุโดยนับอายุงาน 31 ปี 9 เดือน อยู่แล้ว และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 มาตรา 118 (5) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นค่าชดเชยสูงสุด ดังนั้น ไม่ว่าจะนำระยะเวลาการทำงานของโจทก์หลังครบเกษียณอายุอีก 5 ปี 5 เดือน มานับรวมเป็นอายุงานในการคำนวณค่าชดเชยของโจทก์ด้วยได้หรือไม่ โจทก์ก็คงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วันอยู่ดี อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ผู้พิพากษา

จรัส พวงมณี
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
พิทยา บุญชู

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android