คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 7 เม.ย. 2554 15:12:30

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่า ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันออกสำรวจที่ดินในนามของสมาคมเกษตรก้าวหน้า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายร้องทุกข์ไว้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น มีความหมายทำนองว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกตามคำฟ้องไม่เป็นความผิดทางอาญาที่ศาลจะมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกได้ แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้ต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 56 แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความโดยตรงว่า จำเลยทั้งหกได้ดำเนินกิจการในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า แต่เมื่ออ่านคำฟ้องทั้งหมดแล้วก็สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งหกดำเนินกิจการดังกล่าวในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้านั้นเอง เมื่อสมาคมเกษตรกรก้าวหน้าไม่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นกรรมการสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า ย่อมเป็นการดำเนินกิจการอันผิดวัตถุประสงค์ของสมาคม คำฟ้องของโจทก์ครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนแรกแล้ว นอกจากนี้ โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากรัฐบาลมีโครงการซื้อที่ดินตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้รัฐบาลต้องซื้อที่ดินราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยทั้งหกได้รับเงินส่วนที่เกินจากราคาที่ประชาชนเสนอขาย และหากรัฐบาลไม่มีโครงการรับซื้อที่ดินจากประชาชนตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลกับเข้าใจว่ารัฐบาลและราชการหลอกลวงประชาชน นำไปสู่ความไม่สงบสุขกับเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของรัฐได้ คำฟ้องของโจทก์ย่อมครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนหลังแล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่ามีผู้ร้องทุกข์ไว้ด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติให้ต้องมีในคำฟ้อง
ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยอ้างว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 แล้ว ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยการรอการลงโทษเช่นกัน จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำความผิดอาญาอื่นใดมาก่อน และตามประวัติส่วนตัวมีเหตุที่จะรอการลงโทษได้ ทั้งการกำหนดโทษให้แก่จำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิด ไม่สามารถแบ่งแยกได้ เห็นว่า ตาม ป.อ. มาตรา 56 ศาลมีอำนาจกำหนดโทษของจำเลย โดยพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคล หาใช่ต้องยกประโยชน์หรือต้องกำหนดโทษให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วยแต่อย่างใดไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 56
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

ผู้พิพากษา

วัส ติงสมิตร
ตรีวุฒิ สาขากร
ธีระพงศ์ จิระภาค

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android