คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4581/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 ก.พ. 2554 09:12:34

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทะเลจีนใต้และมิใช่พายุที่มีความรุนแรงมิอาจคาดหมาย ทั้งก่อนออกเรือนายเรือก็ทราบข่าวพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดคลื่นลมแรง นายเรือยังอาจหลีกเลี่ยงไม่ไปเผชิญกับพายุโดยหยุดเรือรอจนกว่าคลื่นลมสงบก่อนก็ได้ จึงไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือภยันตรายหรืออุบัติเหตแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ เมื่อเหตุแห่งการสูญหายของสินค้าได้เกิดขึ้นระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง และจำเลยร่วมที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นโดยที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 2 ไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดได้ จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยร่วมที่ 2 ผู้ขนส่งอื่น และจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมที่ 2 ตามลำดับ จึงต้องรับผิดเพื่อการสูญหายนั้น ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534
โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งโจทก์รับช่วงสิทธิมาโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันให้ใช้ HAGUE RULES ในใบตราส่งที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง จึงเท่ากับว่าโจทก์ไม่เคยกล่าวอ้างว่า ในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างผู้ส่งกับจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง มีข้อตกลงกันให้ใช้ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม HAGUE RULES ซึ่งกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าเกินกว่า 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือเกินกว่า 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม อันเป็นข้อจำกัดความรับผิดโดยผลของมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาใช้กับการขนส่งครั้งพิพาทด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีดทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2535 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225

ผู้พิพากษา

พินิจ บุญชัด
พลรัตน์ ประทุมทาน
เอกชัย ชินณพงศ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android