คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2555 09:49:22

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ตามคำฟ้องจะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนถือเป็นสาระสำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้องก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 ให้การรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้รวมถึงการอ้างเหตุสุดวิสัย ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวยังระบุด้วยว่าจำเลยที่ 3 จะเสนอกรมธรรม์ประกันภัยในชั้นพิจารณา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ครอบครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับสำเนาคำฟ้องจากโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงสามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาตรวจสอบ และสามารถทราบได้ทันทีว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายที่นาย ก. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวก่อขึ้น กรณีจึงหาทำให้จำเลยที่ 3 หลงข้อต่อสู้ไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม
ข้อที่ว่านาย ก. ขับรถยนต์ในขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้หรือไม่ จำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 มีเพียงผลการตรวจเลือดนาย ก. ว่า ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือด 0.183 กรัมเปอร์เซ็นต์ และมีนาย อ. ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 3 เบิกความสนับสนุนว่า ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ กรมการประกันภัยกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่จะไม่ต้องรับผิดไว้จำนวน 0.150 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนาย ก. อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังเกิดเหตุบริษัท ก. ซึ่งรับประกันภัยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางด่วนขั้นที่ 2 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 464,893 บาท และต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 โดยมีการตั้งอนุญาโตตุลาการและร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ชำระให้แก่บริษัทดังกล่าวไปตามคำพิพากษาในคดีอนุญาโตตุลาการแล้วจำนวน 691,190 บาท โดยเป็นต้นเงินจำนวน 499,958 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งรับประกันภัยในความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อหนึ่งครั้งเป็นเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินเพียง 500,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเท่านั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจให้การต่อสู้ในคำให้การได้เนื่องจากศาลชั้นต้นในคดีที่ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ แต่ปัญหาเรื่องที่คำพิพากษาสองสำนวนในเหตุละเมิดครั้งเดียวกันจะบังคับให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 3 มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

ผู้พิพากษา

มนตรี ยอดปัญญา
ศิริชัย จิระบุญศรี
สมชาย สินเกษม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android