คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ม.ค. 2554 13:31:53

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้จัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณสถานที่ทำการของจำเลยคิดเป็นค่าจ้างเดือนละ 82,000 บาท จำเลยให้การยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 1 เดือน กับ 15 วัน คิดเป็นเงิน 150,333.25 บาท มิได้สูงมากดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์เรียกร้องมากกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้อง เห็นว่า คำฟ้องดังกล่าวข้างต้นเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพของข้อหาของโจทก์ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังส่งสำเนาใบทำงาน/ใบแจ้งหนี้ซึ่งคำนวณถึงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างแนบท้ายมาด้วย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ตามฟ้อง หรือไม่ เป็นเรื่องคู่ความจะต้องนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณา
โจทก์ยื่นคำฟ้องพร้อมแนบสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมาด้วยจำเลยได้รับสำเนาสัญญาดังกล่าวแล้วมิได้ให้การโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง จึงต้องรับฟังว่าสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยดังกล่าวเป็นสัญญาที่ถูกต้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าต้นฉบับสัญญาดังกล่าวได้มีการติดอากรแสตมป์หรือไม่ ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเกินกว่าจำนวนเงินในสัญญาจ้างทำของหรือไม่ก็สามารถพิจารณาได้จากสัญญาดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 26 มิถุนายน 2546 โดยอ้างว่าฝ่ายบัญชีของโจทก์เพิ่งค้นพบเอกสารที่ยื่นเป็นพยานต่อศาลและเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องในคดี คำร้องดังกล่าวจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเกี่ยวกับประเด็นของคดีซึ่งทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารดังกล่าวได้จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องก็สามารถนำสืบหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทั้งจำเลยเองก็ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากที่โจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว กล่าวคือจำเลยยื่นคำร้องวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ขอระบุผู้จัดการจำเลยเป็นพยานซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาต แสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้โจทก์นำพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลความปลอดภัยในช่วงเวลาตามที่ตกลงไว้ในสัญญา หากนอกเหนือจากสัญญาจำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาดังปรากฏตามเอกสารสำเนาใบแจ้งหนี้ที่จำเลยเคยชำระค่าจ้างล่วงเวลาให้แก่โจทก์ ซึ่งการทำงานล่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาถือเป็นสัญญาจ้างทำของเช่นเดียวกัน
ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระบุว่า ผู้ว่าจ้าง (จำเลย) รับเงินค่าว่าจ้างตามข้อ 2 ผู้ว่าจ้างจะใช้สิทธิยึดหน่วงหรือถ่วงเวลาไว้เกินกำหนดหรือจะนำไปหักกลบลบหนี้อย่างอื่นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้รับจ้าง (โจทก์) เป็นลายลักษณ์อักษร จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาว่าจำเลยจะไม่ยึดหน่วงค่าจ้างและนำค่าจ้างไปหักกลบลบหนี้ มีข้อยกเว้นอยู่กรณีเดียวคือได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยหักกลบลบหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงหรือหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241

ผู้พิพากษา

ศิริชัย วัฒนโยธิน
ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล
กีรติ กาญจนรินทร์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android