คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15016/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 31 ม.ค. 2554 11:00:10

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 694 แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงอาจทำข้อตกลงแตกต่างกับที่กฎหมายมาตรานี้บัญญัติไว้ได้ สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความเป็นข้อต่อสู้อย่างหนึ่งซึ่งลูกหนี้ยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตกลงกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าจะไม่ยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ตามข้อ 4 ของสัญญาค้ำประกัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับระหว่างคู่สัญญาและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วยสัญญาค้ำประกันข้อ 4 คงมีผลเพียงว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เท่านั้น ส่วนอายุความตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เองโดยตรงกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความของสัญญาค้ำประกันไว้ จึงมีอายุความสิบปีอันเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดและโจทก์ชอบที่จะเรียกจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน จนถึงวันที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 พ้นเวลาสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์
สนอง เล่าศรีวรกต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android