คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ม.ค. 2554 14:24:51

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้โจทก์จะลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่สำนักงานโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครก่อนแล้วจึงส่งสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดสงขลา ก็ย่อมถือได้ว่าสำนักงานโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานโจทก์ตั้งอยู่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) และมาตรา 5
ปัญหาว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่มีใจความเพื่อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายอันเป็นการให้ประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียว ย่อมตกเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่าศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอของคู่ความในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดีหากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา ทั้งนี้หากศาลไม่อนุญาตคู่ความที่ยื่นคำร้องก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวต่างหากจากคดีนี้ได้ เมื่อปรากฏว่าประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเฉพาะในเรื่องเช่าซื้อและค้ำประกัน การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้หมายเรียกบริษัท ว. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้ใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัย จึงเป็นดุลพินิจในการสั่งคดีของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4

ผู้พิพากษา

อิศเรศ ชัยรัตน์
ชวลิต ตุลยสิงห์
สถิตย์ ทาวุฒิ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android