คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10154/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 27 พ.ค. 2554 09:30:54

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์และต่อมาผิดนัดไม่ชำระหนี้จนเป็นเหตุให้โจทก์ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งการใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกค่าเสียหาย ประกอบกับสัญญากู้ยืมเงินได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับได้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนต้นเงินที่ค้างชำระหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งเบี้ยปรับคือ สัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เบี้ยปรับจึงนับว่าเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าเบี้ยปรับตามสัญญาเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ หากเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่กำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ จึงมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เสียทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379

ผู้พิพากษา

มนตรี ยอดปัญญา
ดิเรก อิงคนินันท์
วีระพล ตั้งสุวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android