คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 มี.ค. 2554 09:13:22

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การแปลความหมายแห่งสัญญานั้นจะต้องดูข้อความที่ปรากฏในสัญญาทั้งฉบับและเจตนาของคู่สัญญาที่มุ่งทำสัญญาต่อกัน ตามสัญญาจำนองมีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และ ผ. จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ตามสัญญาฝากเก็บและแปรสภาพข้าวเปลือกของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้กับโจทก์เป็นเงินแต่ละจำนวนที่ระบุไว้ตามลำดับ ซึ่งเป็นการระบุจำนวนต้นเงินไว้ชัดแจ้งแน่นอน แสดงให้เห็นว่าผู้จำนองแต่ละคนมีเจตนาจำนองที่ดินซึ่งประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงินที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองเท่านั้น แม้สัญญาจำนองจะมีข้อสัญญาด้วยว่า เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์ซึ่งจำนองนี้ออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วนั้นเงินยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวน ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้จำนองแต่ละคนยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาภายในต้นเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าจะต้องรับผิดชำระหนี้ที่ขาดจำนวนหลังจากบังคับจำนองซึ่งเท่ากับจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งจำนวนไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715

ผู้พิพากษา

นิพนธ์ ใจสำราญ
วรพจน์ วิไลชนม์
อนันต์ ชุมวิสูตร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android