คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ธ.ค. 2553 09:49:38

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพาทก่อนขายให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด โดยประเด็นทั้งสองข้อนี้เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นฝ่ายกล่าวอ้างภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่า ขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ประกอบทั้งได้พิจารณาพยานหลักฐานในประเด็นทั้งสองนี้แล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยร่วมกัน แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบก่อน จำเลยก็ถามค้านให้พยานโจทก์มีโอกาสอธิบายและนำสืบถึงข้อความเหล่านั้นโดยบริบูรณ์แล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองหาเสียเปรียบไม่ ศาลล่างทั้งสองหาได้ดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 84 ไม่ และไม่เป็นการพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่อย่างใด
สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากดังกล่าวจึกตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย เมื่อสัญญาขายฝากนี้เป็นโมฆะแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน ฉะนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่ก็ตาม แต่ก็เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ร่วมทั้งสองผู้โอน ไม่ว่าโจทก์จะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (เดิม)
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1329
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491

ผู้พิพากษา

เฉลิมชัย ตันตยานนท์
ธานิศ เกศวพิทักษ์
บุญส่ง โพธิ์พุทธชัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android