คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6789/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 30 พ.ย. 2553 10:31:04

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ คำว่า มีไว้ในครอบครองนั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มิได้บัญญัติให้มีความหมายพิเศษจึงต้องถือว่ามีความหมายทั่วไปว่า คือการมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแล โดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางจะไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.25 กรัม ไว้ในครอบครองจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผลิต" หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย แต่เมื่อกฎหมายกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมอันเนื่องมาจากการกระทำความผิด โดยการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าด้วยการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเพราะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของยาเสพติดให้โทษหรือเป็นการทำให้ยาเสพติดให้โทษนั้นแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น กฎหมายจึงต้องกำหนดโทษสูง เมื่อความมุ่งหมายของกฎหมายเป็นเช่นนี้ คำว่า การแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุในมาตรา 4 ดังกล่าวจึงต้องหมายถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเป็นการบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่หลอดพลาสติกซึ่งเป็นเพียงวัตถุห่อหุ้มโดยไม่ได้มีการกระทำใดแก่สภาพของเมทแอมเฟตามีนนั้นจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนตามบทกฎหมายดังกล่าว เหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65

ผู้พิพากษา

สมศักดิ์ เนตรมัย
รัตน กองแก้ว
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android