คำพิพากษาย่อสั้น
การที่โจทก์ที่ 2 ตกลงหมั้นหมายกับจำเลยที่ 2 นั้น แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ประสงค์ที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 และในฐานะคู่หมั้นโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงย่อมต้องคาดหวังในตัวจำเลยที่ 2 ว่า จะเป็นผู้ที่สามารถนำพาครอบครัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปสู่ความเจริญและมั่นคง การที่โจทก์ที่ 2 พยายามปลุกจำเลยที่ 2 ให้ตื่นเพื่อให้ไปช่วยรดน้ำข้าวโพดอันเป็นงานที่อยู่ในวัยที่จำเลยที่ 2 จะช่วยเหลือได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับอิดออด ซ้ำยังหลบเข้าไปในห้อง เมื่อโจทก์ที่ 2 ตามเข้าไปก็กระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ช่วยเหลือคู่หมั้นของตนตามที่ควรจะเป็น จึงย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์ที่ 2 จะรู้สึกไม่พอใจและแสดงออกซึ่งความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูห้อง รวมทั้งการวิ่งไล่ตามและตบหน้าจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น หาใช่เป็นนิสัยที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 ไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายยังเป็นเด็กย่อมต้องทราบนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี หากโจทก์ที่ 2 มีความประพฤติไม่ดีจำเลยที่ 2 คงไม่ไปขอหมั้นโจทก์ที่ 2 เป็นแน่ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังไปบ้านโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 พยายามไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ที่ 2 แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ถือเอาเรื่องดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและโกรธเคืองโจทก์ที่ 2 การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นอันทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องคืนของหมั้น และมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) และสาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น กำหนดวันสมรสจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะนำมาพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการหมั้นได้กำหนดวันสมรสไว้ล่วงหน้าหรือไม่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า "สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีเพื่อตอบแทนการที่หญิงยินยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วยแต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้