คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7824/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ธ.ค. 2553 09:50:39

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยเลือกฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีล้มละลาย โดยไม่ฟ้องเป็นคดีแพ่งสามัญก่อนนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ใช้สิทธิทางศาลมากกว่าหนึ่งศาลได้ตามแต่ที่จะเห็นสมควร โดยขึ้นอยู่กับสภาพและรูปเรื่องแต่ละคดีไป การที่จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีล้มละลายนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีดังกล่าวไม่ได้เป็นคู่สัญญาและไม่ได้เป็นตัวการที่มอบหมายให้บริษัท ร. กับพวกไปทำสัญญาว่าจ้างกับจำเลยตามที่กล่าวอ้างเป็นมูลหนี้มาในคำฟ้องเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยนำพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดมานำสืบสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจนส่อเจตนาไม่สุจริตในการฟ้องโจทก์ทั้งสอง แต่เป็นกรณีที่ศาลล้มละลายกลางใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานที่จำเลยนำสืบมา ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งก่อนและหลังฟ้องคดีว่าจำเลยมีพฤติการณ์ใช้การฟ้องคดีเป็นเครื่องมือในการต่อรองเชิงบีบบังคับทวงหนี้ ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีก็มีมูลเหตุอันสมควรให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองกับบริษัท ร. น่าจะมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดถึงขนาดเป็นตัวการตัวแทนที่จะต้องร่วมกันรับผิดในมูลค่าจ้างที่ยังค้างอยู่ด้วย การฟ้องคดีล้มละลายของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่าการที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลล้มละลายกลางเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขัดกับคำวินิจฉัของศาลฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทั้งสองสำนวนมาจากมูลเหตุเดียวกัน กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยต้องถือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ผู้พิพากษา

สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร
กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android