คำพิพากษาย่อสั้น
ซองกระสุนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 (4) แม้ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด และ 30 นัด เป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดให้ซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ต้องเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกิน 20 นัด จึงถือได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยคงมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง สำหรับซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลาง เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ผู้ใดมีไว้ย่อมเป็นความผิด ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น จึงต้องริบซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลาง ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม และวัตถุที่ต้องห้ามทั้งสองกรณีดังกล่าว กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกันโดยบัญญัติบทความผิดกับบทลงโทษในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยมีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกเป็นความผิดแต่ละกรรมโดยชัดแจ้งและขอให้ลงโทษทุกกรรมกับจำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน