คำพิพากษาย่อสั้น
เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918, 989 โจทก์ผู้รับโอนเช็คจึงเป็นผู้ถือและเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในมูลหนี้ตามตั๋วเงินคือเช็คไม่อาจต่อสู้ผู้ทรงคือโจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับ จ. ผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้ จ. โดยไม่มีมูลหนี้ แต่เป็นการค้ำประกันในการเล่นแชร์ระหว่างกัน คำให้การดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คกับ จ. ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ฉะนั้นจำเลยจะยกความสัมพันธ์ดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรงเช็คว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่ามีการโอนเช็คและคบคิดฉ้อฉลกันอย่างไร และในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 การที่ จ. ให้โจทก์เป็นผู้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก็ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นใช้ยันกับโจทก์ได้ตาม มาตรา 904 และมาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 ที่จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็มิได้บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร คำให้การจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าแชร์จาก จ. ครบหรือไม่เพียงใดก็ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ จ. โดยตรงต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลัง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้ลงนามสั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ลงชื่อสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือก็จะปัดตนให้พ้นความรับผิดไปหาได้ไม่ เพราะฐานะของจำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นประกันหรืออาวัลสำหรับผู้สั่งจ่าย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 921,940 ประกอบมาตรา 989