คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 25 ส.ค. 2553 15:45:45

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าปรับเพราะผิดสัญญาซื้อขายรวม 4 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายรายฉบับรวม 4 ฉบับ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับและหลักประกันสัญญาตามรายสัญญา แม้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายรวมกันมาทั้งสี่ฉบับการกำหนดค่าปรับก็ต้องพิจารณาภายในวงเงินตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีจึงต้องคำนวณแยกตามสัญญาซื้อขายและหนังสือค้ำประกันนั้นเป็นรายสัญญา เมื่อมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในแต่ละสัญญาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,325.37 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,212.57 บาท รวมเป็นเงิน 10,537.94 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าปรับให้ 3,000 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 7,537.94 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับปัญหาในการกำหนดค่าปรับเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะเห็นพ้องกับการกำหนดค่าปรับของศาลอุทธรณ์และไม่ฎีกาค่าปรับในส่วนนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขได้ตามมาตรา 142 (5)
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กำหนดอัตราค่าปรับให้หน่วยราชการใช้และถือปฏิบัติเป็นหลักทั่วไปเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม หากให้แต่ละหน่วยราชการต่างกำหนดค่าปรับเองกรณีผิดสัญญาก็จะทำให้เกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราค่าปรับที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวจะเหมาะสมแก่ทุกกรณี เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นความรับผิดที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์ ประกอบกับหนังสือค้ำประกันระบุว่า ยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น และให้โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนซึ่งมีลักษณะต้องร่วมรับผิดอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291

ผู้พิพากษา

มนูพงศ์ รุจิกัณหะ
ประทีป เฉลิมภัทรกุล
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android