คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5990/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 5 ก.ค. 2553 09:41:12

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 10) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.85/2542 โดยไม่มีอำนาจนำราคาขายยาสูบสูงสุดที่กำหนดโดยอธิบดีกรมสรรพสามิตตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาใช้เป็นฐานภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเหตุให้โจทก์รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบุหรี่ซิกาแรตที่โจทก์นำเข้าและจำหน่ายเพิ่มขึ้น และตั้งแต่มีประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2549 โดยอาศัยความตามมาตรา 23 ดังกล่าว เมื่อระหว่างวันที่ 18 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โจทก์ต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้วเป็นเงิน 78,880,000 บาท โจทก์กำลังเตรียมยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอ้างว่า ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มต้องคำนวณโดยอ้างอิงจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79/5 (2) พอถือได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระไปแล้ว อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 9 ระบุเงื่อนไขให้ต้องขอคืนภาษีอากรตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงจะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วน 8 เครดิตภาษีและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 84/1 และ 84/2 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 79/5
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 84/1
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 84/2
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 23
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9

ผู้พิพากษา

พันวะสา บัวทอง
องอาจ โรจนสุพจน์
เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android