คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6866/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ย. 2558 14:09:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ข้ออ้างที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องแล้วไม่ยอมแก้ไข จำเลยจึงบอกเลิกสัญญานั้น เป็นเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบอยู่แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 595 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ศาลจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนและเมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญากันแล้ว กรณีเช่นนี้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ส่วนการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว จำเลยต้องชดใช้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ และจำเลยมีสิทธิที่จะหักค่าเสียหายที่ต้องซ่อมแซมงานที่โจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องออกจากค่าจ้างที่ยังค้างชำระอยู่ได้
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมไปจากแบบแปลนที่ตกลงกันไว้เดิมได้ ไม่ต้องห้ามนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
สำหรับค่าจ้างในส่วนงานเพิ่มเติม เมื่อตามสัญญากำหนดไว้ว่าการเพิ่มเติมงานจะต้องคิดราคากันใหม่โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ตกลงเพิ่มเติมงานและราคากันใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จึงถือว่าโจทก์กับจำเลยไม่ได้มีสัญญาต่อกันในส่วนที่โจทก์ทำงานเพิ่มเติม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในส่วนงานเพิ่มเติมจากจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนการก่อสร้างชำรุดบกพร่องแก่จำเลย 77,240 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลย 102,080 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าเสียหายส่วนนี้ควรเป็น 151,040 บาท แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ แต่โจทก์ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นคิดคำนวณรวมค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จึงถือว่าโจทก์ได้โต้แย้งจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้แล้ว ฉะนั้น ค่าเสียหายในส่วนชำรุดบกพร่องจึงหายุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ ทั้งถือเป็นเรื่องแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 237

ผู้พิพากษา

ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล
ไพโรจน์ วายุภาพ
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android