คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ก.ค. 2553 16:28:15

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่า เมื่อ อ. หรือพี่น้องในตระกูลนำเงิน 127,000 บาท ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินพิพาทและบ้านคืนให้ทันที ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืน แต่ตกลงกันในราคาเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 2 และโจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ 127,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปตกลงกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ไปดำเนินการกับจำเลยที่ 2 เอง ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 รับว่าจะขายที่ดินคืนให้แก่โจทก์แต่ตกลงไว้ในราคาอื่นและจำเลยที่ 1 รับมัดจำไว้แล้ว การตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงย่อมเข้าลักษณะสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่โจทก์จึงเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย เป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายระหว่าง อ. จำเลยที่ 1 เป็นประเด็นรอง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ป.วิ.พ. มาตรา 142 เป็นบทบัญญัติในภาค 1 บททั่วไปใช้สำหรับทุกชั้นศาล ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยตรง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และตามปัญหาของจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้เป็นสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยต่อไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ผู้พิพากษา

อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย
มนตรี ยอดปัญญา
วีระพล ตั้งสุวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android