คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4846/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 17 มี.ค. 2553 15:27:24

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารผิดต่อข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครหรือไม่ เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ หากโจทก์เห็นว่าหน้าต่างของอาคารที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างเมื่อเปิดแล้วจะรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเปิดหน้าต่างล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพอแปลได้ว่า โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเปิดหน้าต่างหรือส่วนของอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 16 เมตร จำเลยทั้งสองให้การว่า มิได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์หากแต่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีที่โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันจึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้ตีราคาที่ดินส่วนที่พิพาทกันเพื่อให้คู่ความเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงระวางที่ดินเลขที่ดิน หน้าสำรวจ ตำบล อำเภอ และจังหวัดที่ตั้งของที่ดินส่วนที่พิพาทซึ่งมีสภาพเป็นทางเข้าวัดโจทก์แล้ว เห็นว่ามีราคาไม่ถึง 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

ผู้พิพากษา

ศิริชัย วัฒนโยธิน
ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล
กีรติ กาญจนรินทร์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android