คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 10 ก.พ. 2553 14:33:04

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คำฟ้องคดีแพ่งคู่ความไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างในคำฟ้องเพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาได้ความเองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 คดีนี้โจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังนี้ ศาลมีอำนาจนำ พ.ร.บ. ดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ได้
ธนูที่เกิดเหตุเป็นธนูที่ใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวัง คาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าธนูดังกล่าวอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิให้นำธนูไปใช้เล่นกัน เพราะปรากฏว่ายังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะพึงปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ มิได้เป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกาย การที่จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียน ภ. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายได้ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาตาจำนวน 50,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 100,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลอื่นนำเงินมามอบให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่อาจนำเงินที่ทางโรงเรียน ภ. และจำเลยที่ 5 ช่วยเหลือโจทก์จำนวน 35,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวน 30,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด รวมทั้งที่โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเล่นยิงธนูใส่กันกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ก็มีส่วนรับผิดเช่นเดียวกันตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายทั้งสองจำนวนรวมเป็นเงิน 80,000 บาท จึงไม่เป็นจำนวนที่สูงเกินความเป็นจริง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 134
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442

ผู้พิพากษา

มนูพงศ์ รุจิกัณหะ
ประทีป เฉลิมภัทรกุล
วีระชาติ เอี่ยมประไพ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android