คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2546

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ การพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ที่แสดงให้พอเข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับมิใช่ต้องแสดงโดยแจ้งชัดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายตราเป็ดว่ายน้ำและได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้มาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน ส่วนเครื่องหมายตราเป็ดยืนโจทก์จดทะเบียนรับโอนมาจากผู้ที่จดทะเบียนไว้ก่อน แต่ต่อมาโจทก์ไม่ได้ขอต่ออายุการจดทะเบียนจึงถูกเพิกถอนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าว จากนั้นจำเลยซึ่งเคยเป็นผู้จัดการของโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและนายทะเบียนก็รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลย อันเป็นการขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ซึ่งตามคำฟ้องย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย อันเป็นเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยก็ตามแต่ก็เข้าใจได้ว่า โจทก์ประสงค์จะให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั่นเอง ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งมีสิทธิดีกว่าจำเลย แต่จำเลยนำไปจดทะเบียนการค้าโดยไม่สุจริตก็เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว และกรณีผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องผู้ที่ได้จดทะเบียนการค้าไว้แล้วนั้นพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 ก็ให้อำนาจศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหากโจทก์แสดงได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่ากัน ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เพราะเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็มีผลบังคับเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นเอง โจทก์เพียงแต่นำคำพิพากษาไปแสดงแก่นายทะเบียนเพื่อจดแจ้งทางทะเบียนให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้น ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ต้องฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับนายทะเบียนแต่อย่างใด
การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ด้วยเหตุที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6(3) นั้น เป็นกรณีที่นายทะเบียนพิจารณาสั่งตามมาตรา 16 โดยพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่เท่านั้นซึ่งเป็นคนละปัญหากับการที่ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะวินิจฉัยเรื่องความเหมือนคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยอย่างไร ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์เสียสิทธิฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 แต่ประการใด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 16
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 67
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30

ผู้พิพากษา

สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ
พินิจ เพชรรุ่ง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android