คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2540

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางวันและผู้เสียหายเห็นคนร้ายอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ผู้เสียหายมีโอกาสที่จะจำคนร้ายได้ แต่การจำคนร้ายได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้ประสบเหตุนั้นด้วย จึงต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบด้วยว่าเพียงพอที่จะรับฟังว่าบุคคลนั้นจำคนร้ายได้หรือไม่ การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีไม่ได้เกิดจากคำให้การของผู้เสียหาย แต่เป็นผลมาจากเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่อื่นจับจำเลยได้ในข้อหาปล้นทรัพย์ที่ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทางเยื้องห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดหญ้า จำเลยรับว่าได้ปล้นทรัพย์ในท้องที่ภาษีเจริญด้วย จึงมีการแจ้งมาที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ อ. พนักงานสอบสวนคดีนี้จึงไปถ่ายรูปจำเลยแล้วให้ผู้เสียหายดูภาพถ่ายดังกล่าว แทนที่จะใช้วิธีการชี้ตัวเพื่อพิสูจน์ว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้หรือไม่การใช้วิธีให้ผู้เสียหายชี้ภาพถ่ายสมควรกระทำในกรณีที่ไม่อาจใช้วิธีการชี้ตัวบุคคลเนื่องด้วยเหตุผลพิเศษบางประการเช่น ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ เป็นต้น แต่ในกรณีปกติ ถ้าสามารถจัดให้พยานหรือผู้เสียหายชี้ตัวได้ ก็ไม่ควรใช้วิธีชี้ภาพถ่ายแทนเพราะไม่มีผลน่าเชื่อถือเท่ากับวิธีการให้ชี้ตัว เนื่องจากการชี้ตัวได้เห็นตัวบุคคลจริงย่อมมีความแน่นอนกว่า ทั้งต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยและพยานอื่นอีกหลายคน ที่ อ. อ้างว่าการที่มิได้จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลย เพราะต้องเบิกจำเลยมาที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญเป็นการยุ่งยาก ก็ปรากฏว่าการที่จะให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นเพราะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้น แม้ผู้เสียหายดูภาพถ่ายแล้วระบุว่าจำเลยคือคนร้ายที่ใช้มีดคัตเตอร์จี้และชกหน้าผู้เสียหาย ก็ยังยากที่จะรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายจริง ส่วนการที่ผู้เสียหายชี้จำเลยในศาลนั้นผู้เสียหายเห็นภาพถ่ายจำเลยมาแล้วและสภาพของจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณามีความแตกต่างจากผู้อื่นสามารถรู้ว่าบุคคลใดเป็นจำเลยได้ไม่ยาก ไม่อาจใช้พิสูจน์ว่าผู้เสียหายจำได้ว่าจำเลยคือคนร้าย เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดคดีนี้ จึงมีเหตุน่าสงสัยว่าหากจำเลยทำผิดคดีนี้ด้วย จำเลยก็น่าจะรับสารภาพต่อ อ. เช่นเดียวกับที่ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าจำเลยอาจจะไม่ใช่คนร้ายที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายก็ได้จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227

ผู้พิพากษา

อำนวย เต้พันธ์
อร่าม หุตางกูร
สุนทร สิทธิเวชวิจิตร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android