คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2545

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การได้ต่อเมื่อโจทก์มีคำขอ แต่การที่โจทก์มิได้ขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้หมายความว่าจำเลยไม่ขาดนัดยื่นคำให้การ เพราะเมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ต้องถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคแรก (เดิม) แล้วผลของการที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวมีเพียงว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น หากโจทก์ไม่ยื่นคำขอ ก็เป็นผลทำให้ศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความได้ตามมาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ เหตุนี้การขออนุญาตยื่นคำให้การตามมาตรา 199(เดิม) จึงไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 198 วรรคแรก (เดิม) ก่อน
การที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การเป็นการขออนุญาตยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ซึ่งหากจะถือว่าเป็นการขอขยายระยะเวลา จำเลยจะต้องอ้างทั้งพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายและอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำขอขยายระยะเวลานั้นก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่ตามคำร้องขอของจำเลยอ้างเหตุที่มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้น มิได้อ้างพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยจึงไม่อาจถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยได้
จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกให้ให้การและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ที่หลงลืมเพราะมีธุระส่วนตัวต้องทำจึงไม่อาจยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดมิใช่เหตุผลอันสมควร ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มีทนายความในคดีอาญาที่เกี่ยวกับคดีที่ตนถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งอยู่แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจติดต่อกับทนายความของตนเพื่อยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การหรืออาจขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยอ้างพฤติการณ์พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่จำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ในการดำเนินการดังกล่าวหรือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้ตามคำฟ้องและในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ จำเลยมีสิทธิที่จะสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งจำเลยก็ได้สาบานตนให้การเป็นพยาน และถามค้านพยานโจทก์ในข้อที่ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลมาตรา 249 วรรคแรก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 เดิม
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 เดิม
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เดิม
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

วิชา มหาคุณ
พูนศักดิ์ จงกลนี
ปัญญา สุทธิบดี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android