คำพิพากษาย่อสั้น
คำว่า "ป้าย" ตามพระราชบัญญัติภาษีป้ายฯ มาตรา 6 หมายความว่า ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น แต่ป้ายที่มีข้อความว่า "กรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายดีเซล ซูพรีม92ซูพรีม 97"เป็นป้ายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 54) ป้ายดังกล่าวจึงมิใช่ป้ายตามความหมายข้างต้น โจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายนี้
ส่วนป้ายที่มีข้อความว่า "ดีเซล" แม้จะเป็นชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่มีลักษณะทั่วไป แต่ก็ยังคงอยู่ในความหมายของคำว่า "ป้าย" เมื่อป้ายนี้อยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการการค้าและมีขนาดพื้นที่ป้ายเกินกว่าหนึ่งตารางเมตร โจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายดังกล่าวแต่ป้าย "ดีเซลและซูพรีม 97" เป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย
สำหรับป้าย "เอสโซ่Essoและเครื่องหมายลูกศร" เป็นป้ายที่อยู่โครงป้ายเดียวกันและไม่สามารถแยกจากกันได้กับข้อความ "ยินดีรับบัตร SYNERGYESSO" เครื่องหมายลูกศรอยู่ใต้ข้อความดังกล่าว จึงเป็นชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์อันมีลักษณะเชิญชวนให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกบัตรดังกล่าวเข้าใช้บริการของโจทก์ซึ่งตรงตามคำนิยามของคำว่า "ป้าย" แล้ว เมื่อป้ายดังกล่าวมีขนาดพื้นที่เกินหนึ่งตารางเมตรโจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายดังกล่าว
ป้ายมีข้อความว่า "เอสโซ่ Esso รูปเสือ WelcometotigerMart ล้าง-อัดฉีดห้องน้ำสะอาด" เป็นป้ายประเภท 2 ที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและเครื่องหมายซึ่งอยู่ในโครงป้ายเดียวกันทั้งหมดไม่อาจแยกจากกันได้และมีขนาดพื้นที่เกินกว่าหนึ่งตารางเมตร โจทก์ต้องเสียภาษีป้ายในส่วนนี้ด้วย
การขอคืนค่าภาษีป้ายตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายฯ ต้องเป็นการขอคืนต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เสียภาษีป้าย และต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษีป้ายเสียภาษีไปโดยไม่มีหน้าที่หรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสีย แต่การที่โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีป้ายไม่ถูกต้อง และยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวตามมาตรา 30 โดยจำเลยทั้งสองวินิจฉัยยืนตามการแจ้งประเมิน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองพร้อมทั้งขอคืนค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มที่ประเมินเกินไปคืนนั้น มิใช่กรณีตามพระราชบัญญัติภาษีป้ายฯ มาตรา 24 โจทก์จึงมีอำนาจขอค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มคืนจากจำเลยที่ 1 ได้แม้ว่าจะเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันเสียภาษีป้ายก็ตาม