คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2544

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทนำไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ IBMA/S400 ของจำเลย ซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าโจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทตามคำฟ้องโดยจำเลยคงให้การเพียงว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท หากลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นของโจทก์จำเลยก็มิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์เพราะจำเลยได้นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นไปใช้งานอันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานที่จำเลยได้จ้างโจทก์ ดังนี้ ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยรับว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้อง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทหรือไม่ข้อเท็จจริงในคดีจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแล้วโจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ
แม้โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 9 ก็เป็นการยืนยันอยู่ว่างานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้นยังเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เว้นแต่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ให้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท
ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ในกิจการของจำเลย โดยปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้คิดค่าตอบแทนในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้จากจำเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์เอื้อเฟื้อให้จำเลยใช้ประโยชน์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวเนื่องจากโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อไป โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิทวงถามให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแก่โจทก์ได้ แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้และยังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ต่อไปอันมีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
การที่โจทก์ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทในเครื่องคอมพิวเตอร์IBMA/S400 ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทของโจทก์ แม้โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ก็ตามแต่จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 โจทก์โดยทนายความของโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ระงับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทและให้คืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่โจทก์ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2542 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมคืนให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นต้นไปมิใช่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างบริษัทจำเลย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 9

ผู้พิพากษา

พินิจ เพชรรุ่ง
เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ
พิชิต คำแฝง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android