คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2544

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความดังเช่น พระราชบัญญัติทนายความสองฉบับแรก (ที่ยกเลิก) ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทที่ระบุว่า "คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ" จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความระหว่างโจทก์จำเลย หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคและไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน เป็นข้อแพ้ชนะกันระหว่างโจทก์จำเลย แต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่โจทก์ต้องลงแรงว่าต่างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกความ จึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 ไม่
เมื่อโจทก์เป็นทนายความฟ้อง ร. และ ค. แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมา ร. และ ค. ผิดสัญญา โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ดำเนินการบังคับคดี ซึ่ง ร. และ ค. ได้นำเงินมาวางชำระที่ศาลแล้ว ดังนี้ โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยได้ดำเนินการบังคับคดีแล้ว ซึ่งต่อมา ร. และ ค. ได้วางเงินชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกจำเลยฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้โดยการว่าจ้างทนายความคนอื่นหรือเพราะการบังคับคดี ยึดทรัพย์ก็ตาม ถือว่ามีการบังคับคดีและจำเลยได้รับชำระหนี้แล้วโจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853
  • พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2477 มาตรา 853

ผู้พิพากษา

สุมิตร สุภาดุลย์
สุทิน ปัทมราชวิเชียร
สมชัย เกษชุมพล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android