คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8688/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2555 14:31:07

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้
การที่ผู้กู้มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่ผู้ให้กู้ โดยมีข้อตกลงให้ผู้ให้กู้จัดการทำประกันภัยแทนผู้กู้ได้ และผู้กู้ยินยอมชำระค่าธรรมเนียมและค่าเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่ที่โจทก์ขอมาเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง จึงเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคตจะถือว่าจำเลยที่ 1 และนาย ช. ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และนาย ช. ตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้และบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นการบังคับจำนองว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ หากไม่พอย่อมยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และนาย ช. ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ แต่ในตอนพิพากษากลับมิได้พิพากษาเกี่ยวกับการบังคับจำนอง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
รัตน กองแก้ว
ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android