คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2509

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ศาลเชื่อว่า จำเลยได้ถูกบันทึกเสียงไว้ถึง 6 ครั้ง ยากที่จะมีใครมาเลียนเสียงที่จำเลยพูดได้เป็นชั่วโมงๆ ไม่ใช่ว่าศาลชั้นต้นจะรับฟังลำพังแต่เทปอัดเสียงของจำเลยมาลงโทษจำเลยก็หาไม่ ศาลเชื่อว่าโจทก์ร่วมได้อัดเสียงจำเลยไว้จริง จึงไม่ขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
โจทก์ไม่ทราบว่ามีเอกสาร ล.1 ที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยนำมาแสดงชั้นพิจารณา โจทก์เห็นว่าน่าจะเป็นเอกสารปลอม โจทก์ย่อมมีสิทธิขออนุญาตศาลส่งไปให้ตรวจพิสูจน์ได้ตามมาตรา 125 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยมาตรา 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จำเลยอ้างสำนวนความของศาลจังหวัดปัตตานีเพื่อแสดงว่าจำเลยมีฐานที่อยู่เพราะจำเลยปฏิบัติงานอยู่ ดังนั้น การที่ศาลจับพิรุธที่ปรากฏได้ในบางสำนวนแล้วไม่เชื่อว่าเป็นความจริงว่าจำเลยได้อยู่ปฏิบัติงานในวันนั้นๆ ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะชั่งน้ำหนักคำพยาน หาใช่ทำการพิสูจน์โต้แย้งแทนโจทก์ไม่
จำเลยนำเอกสารมาซักค้านพยานโจทก์ก่อนเวลาที่จำเลยอ้างและนำสืบเพื่อสะดวกแก่การจด ศาลให้จำเลยส่งเอกสารนั้นทั้งหมดโดยศาลจดรายงานไม่ให้โจทก์คัดจนกว่าจำเลยจะอ้าง ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เสียความยุติธรรมแต่อย่างใด
การที่โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้จำเลยรับไปแล้วห้าแสนบาท จำเลยตั้งข้อเรียกร้องเอาเงินค่าวิ่งเต้นให้โจทก์ร่วมจ่ายเพิ่มอีก โดยพูดขู่ด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรว่าถ้าไม่ตกลงจ่ายเงินตามที่จำเลยเรียกร้อง ก็ให้เตรียมตัวเข้าคุก ดังนี้ เป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมยอมจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก จนโจทก์ร่วมผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้เพิ่มขึ้นตามคำขู่ของจำเลย เพราะเกรงว่าถ้าไม่ยอมทำตามจะต้องได้รับโทษจำคุก ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสรีภาพชื่อเสียง ของโจทก์ร่วม เป็นความผิดตามมาตรา 337 (ปัญหาสุดท้ายพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2509)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125

ผู้พิพากษา

เชื้อ คงคากุล
ยง เหลืองรังษี
เสนอ บุณยเกียรติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android