คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3686/2551

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 11 มิ.ย. 2552 13:57:17

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 และโจทก์ผู้ขอใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง มิใช่กรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนที่คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้วแต่กรณีที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 39
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะเป็นที่สุดต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในการพิจารณาความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาได้ว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของจำเลยหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีเหตุผลชอบด้วยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและถูกต้องด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ด้วย
โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ ไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือในกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายอักษรโรมันอย่างเดียว แต่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นทั้งเครื่องหมายรูปคือกิเลน 5 ตัว ในวงกลมและเครื่องหมายอักษรภาษาจีนอ่านว่า "โหงวคี่เล้ง" และอักษรไทย ตัวเลขอารบิคคำว่า "ตรา 5 กิเลน" ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของคำและอักษรคือ "KIRIN" และ "กิเลน" ไม่คล้ายกันเพราะเป็นอักษรโรมันกับเป็นอักษรไทย แต่คำว่า "กิเลน" มีเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว แม้สินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันแต่รายการสินค้าแตกต่างกันโดยของโจทก์เป็นยารักษาโรคแผนปัจจุบัน แต่ของบุคคลอื่นเป็นยาแผนโบราณ และสินค้ายาของโจทก์ต้องสั่งและใช้โดยแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ประชาชนไม่อาจหาซื้อได้ แต่สินค้ายาของบุคคลอื่นหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา ตลาดยาของโจทก์จึงเป็นโรงพยาบาล สถานพยาบาล ซึ่งแพทย์เป็นผู้สั่งซื้อหรือสั่งจ่ายยาซึ่งยากที่แพทย์หรือเภสัชกรหรือผู้ใช้ยาจะสับสนหรือหลงผิดหรือผิดพลาด ขณะที่ตลาดยาของบุคคลอื่นนั้นเป็นร้านขายยาซึ่งประชาชนผู้ซื้อสินค้ายาของบุคคลอื่นสับสนหรือหลงผิด เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับของบุคคลอื่นจึงไม่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป เป็นการบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทั้งที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคสอง เสียก่อน ศาลจึงไม่อาจก้าวล่วงพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

เอกชัย ชินณพงศ์
พลรัตน์ ประทุมทาน
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android