คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8167/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 ส.ค. 2552 10:15:56

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีนี้จำเลยแสดงความจำนงที่จะให้การด้วยวาจาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 193 วรรคสาม ศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ต้องจัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดของคำให้การลงในแบบพิมพ์บันทึกคำให้การด้วยวาจาคดีมโนสาเร่ (แบบ ม.2 ) แล้วอ่านให้จำเลยฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ทั้งนี้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 2 การที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่จดคำให้การด้วยวาจาของจำเลยลงในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 โดยไม่ได้จัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดคำให้การของจำเลยลงในแบบพิมพ์ ม.2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 เมื่อปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจำต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48

ผู้พิพากษา

มนตรี ยอดปัญญา
ดิเรก อิงคนินันท์
วีระพล ตั้งสุวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android