คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12479/2547

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 28 พ.ค. 2552 09:40:48

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า น่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้เรียกประชุมคณะกรรมการและได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับสินค้าของผู้เสียหายจริง และได้สรุปความเห็นว่าโจทก์ทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เบิกความไปตามข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และตามผลการตรวจสอบที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้เสียหายให้ความเห็นไว้ โดยโจทก์ยอมรับว่าได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายสำหรับสินค้าของผู้เสียหายที่ขาดหายไปบางส่วนด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปไม่เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ยักยอกสินค้าและเงินของผู้เสียหายกับปลอมเอกสารต่าง ๆ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นกรณียืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิดแต่อย่างใด ส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำผิดเช่นกัน เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความโดยใช้ถ้อยคำว่า จึงเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เบิกความอธิบายถึงเหตุที่เชื่อเช่นนั้นว่า เพราะเอกสารใบเบิกเงินอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยตลอด ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเอกสารทางบัญชีต่าง ๆ ของผู้เสียหายจริง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

ผู้พิพากษา

สุพัฒน์ บุญยุบล
สายันต์ สุรสมภพ
บรรหาร มูลทวี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android