คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 เม.ย. 2553 10:47:41

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ลูกหนี้การค้าของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินนับตั้งแต่โจทก์คำนวณรับรู้รายได้โดยต้องใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หากโจทก์เห็นว่าไม่อาจได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ดังกล่าวอย่างแน่นอนเพราะลูกหนี้รายนี้ต้องล้มละลาย โจทก์ต้องดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของมาตรา 65 ทวิ (9) แห่ง ป.รัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2534 เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวจึงต้องถือว่าลูกหนี้รายนี้ยังคงเป็นลูกหนี้ของโจทก์ทั้งจำนวน และโดยที่เป็นหนี้เงินตราต่างประเทศ โจทก์ต้องคำนวณค่าหรือราคาของลูกหนี้เป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคำนวณไว้ตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจึงต้องปรับปรุงรายการดังกล่าวเป็นรายได้ของโจทก์
โจทก์คำนวณราคาขายผิดพลาดสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งกรณีนี้ต้องแก้ไขทางบัญชีโดยบันทึกลดหนี้ แต่โจทก์กลับจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีทั้งจำนวนโดยบันทึกผลต่างของราคาที่ผิดพลาดเป็นรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องทางบัญชี การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำเงินที่โจทก์ได้รับชำระมาคำนวณเป็นอัตราเงินไทยแล้วเห็นว่าโจทก์มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จึงนำเงินกำไรดังกล่าวมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงถูกต้องตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง
ราคาตลาดของสินค้าอาจไม่มีราคาตายตัวหรือราคาเดียว การขายสินค้าแต่ละครั้งในราคาสูงต่ำผิดกันก็อาจอยู่ในกรอบของราคาตลาดได้ แม้โจทก์จะขายสินค้าถุงมือยางให้ผู้ซื้อแต่ละรายในราคาไม่เท่ากัน แต่การกำหนดราคาขายต่อหน่วยก็ต่างกันที่เลขทศนิยมหลักที่ 3 เงื่อนไขการชำระเงินและปริมาณสินค้าที่ซื้อขายก็แตกต่างกัน ทั้งราคาขายสินค้าต่อหน่วยเป็นเงินมาร์กเยอรมันและเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อคำนวณเป็นเงินไทยแล้วมีราคาไม่เท่ากันก็หาใช่กรณีโจทก์ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เพราะค่าของเงินแต่ละประเทศที่โจทก์ได้รับมาแต่ละวันคำนวณราคาเป็นเงินไทยตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมานั้นมีอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันตามค่าของเงินนั้น ๆ นอกจากนี้การที่บริษัท R ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าของโจทก์รายหนึ่งถือหุ้นในบริษัทโจทก์ ย่อมทำให้บริษัททั้งสองมีความผูกพันกันอยู่อันเป็นเหตุสมควรที่โจทก์จะขายสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาที่ขายให้แก่ผู้ซื้อรายอื่น การกระทำของโจทก์ในส่วนนี้ยังไม่อาจถือว่าเป็นการปฏิบัติเกินกว่าปกติที่พึงปฏิบัติต่อกันในทางการค้าและกระทบถึงผลประโยชน์ของโจทก์เกินกว่าปกติ เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินราคาสินค้าถุงมือยางของโจทก์ดังกล่าวตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 65

ผู้พิพากษา

ชาลี ทัพภวิมล
ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช
องอาจ โรจนสุพจน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android