คำพิพากษาย่อสั้น
แม้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ในวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ต่อไป เมื่องานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 และเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 30 ปี นับแต่วันโฆษณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 งานดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ 21 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองไว้ในหมวด 1 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป การได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 จึงหมายความรวมถึงการได้รับความคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 ถึงมาตรา 26 ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้ว จึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย
การวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง มีความหมายเพียงว่า งานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์เท่านั้นที่ยังคงใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่เล็งเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 นั้นล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับไม่สอดคล้องกับความใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคสอง และพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันกับความในวรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้งานซึ่งไม่เคยได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติเดิมทั้งสองฉบับได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ภายใต้กำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า "ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้" ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย