คำพิพากษาย่อสั้น
ภาษีบำรุงเทศบาลที่เทศบาลมีอำนาจออกเทศบัญญัติเก็บเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบจากภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 12(2)แห่งพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 นั้น มาตรา 14 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ ให้ถือว่าเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากร เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อกรมสรรพากร จำเลยเฉพาะเรื่องการเรียกเก็บภาษีการซื้อโภคภัณฑ์มิได้คัดค้านเรื่องการเรียกเก็บภาษีบำรุงเทศบาลด้วยโจทก์เพิ่งมาคัดค้านในชั้นศาล จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30
แม้โจทก์จะทำหน้าที่เป็นแต่เพียงตัวแทนช่วยจัดการสั่งซื้อรถยนต์จากต่างประเทศให้ผู้อื่น โจทก์ก็ยังเป็นผู้ค้าโภคภัณฑ์ตามบทนิยามคำว่า "ผู้ค้ำโภคภัณฑ์"ในมาตรา 166 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะบทบัญญัตินี้ผู้ค้าโภคภัณฑ์หมายความรวมถึงผู้ทำการแทนด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องรับผิดในการชำระภาษีการซื้อโภคภัณฑ์สำหรับรถยนต์ที่โอนให้แก่ผู้อื่นตามมาตรา 173
เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้าโภคภัณฑ์ได้สั่งซื้อรถยนต์เข้ามาใช้ในกิจการเดินรถโดยสารของโจทก์เอง โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการซื้อโภคภัณฑ์สำหรับรถยนต์จำนวนนี้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 168
บทบัญญัติของประมวลรัษฎากรมีเจตนารมณ์ที่จะเรียกเก็บภาษีโภคภัณฑ์จากรถยนต์ทุกชนิดยกเว้น "รถยนต์บรรทุก" ตามความหมายในบัญชีอัตราภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ท้ายลักษณะ 4 ว่าด้วยการซื้อโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 มาตรา 53 รถยนต์ชนิดใดเป็นรถยนต์บรรทุกย่อมต้องตีความโดยเคร่งครัด คำว่า "บรรทุก" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมายถึง "ใส่ลง บรรจุลง" ดังนั้น "รถยนต์บรรทุก" ย่อมหมายความถึงรถยนต์ที่บรรทุกสิ่งของมิใช่คนโดยสารดังรถยนต์ โดยสารสำเร็จรูปของโจทก์ ส่วนคำนิยามในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 4(3)คำว่า "รถยนต์สาธารณะ" หมายความถึงรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือของนั้นไม่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อตีความคำว่า "รถยนต์บรรทุก" ในประมวลรัษฎากรได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกัน และมีวัตถุประสงค์ต่างกัน