คำพิพากษาย่อสั้น
คำฟ้องเดิมของโจทก์เรียกร้องค่าเลี้ยงดูเฉพาะตัวโจทก์เองเท่านั้น การที่โจทก์ร้องขอให้เพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกจึงต้องเป็นเรื่องสืบเนื่องโดยตรงจากคำฟ้องเดิมของโจทก์นั้นเอง จะยกเอาประเด็นใหม่ขึ้นมาประกอบ อาทิเรื่องความจำเป็นเกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรอีกด้วยเช่นนี้ไม่ได้ เพราะค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับตัวโจทก์เองโดยเฉพาะในฐานะที่เคยเป็นภรรยา กับค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับบุตร เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น และอาศัยหลักกฎหมายต่างกัน
แม้ในคำร้องของโจทก์ ที่ขอค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น จะได้กล่าวอ้างถึงเรื่องบุตรตลอดจนไม่มีเงินค่าเล่าเรียนให้แก่บุตร และศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยกล่าวอ้างถึงเช่นนั้น และฝ่ายจำเลยจะไม่โต้แย้งด้วยก็ตาม แต่เมื่อไม่ใช่ประเด็น ศาลฎีกาก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความข้อนี้
เมื่อเงินค่าเลี้ยงดูที่โจทก์ได้รับอยู่เป็นผลสืบเนื่องมาจากนิติกรรมโดยศาลบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้กระทำไว้ต่อกันในวันจดทะเบียนหย่านั้น ย่อมไม่ใช่เป็นเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลกำหนดให้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1506 และ มาตรา 1594 วรรคสอง คำว่า "ค่าเลี้ยงดู" กับ "ค่าอุปการะเลี้ยงดู" นั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เหตุแห่งการได้มาซึ่งค่าเลี้ยงดูหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับภรรยานั่นแหละเป็นสาระสำคัญที่ก่อให้เกิดผลแตกต่างกันขึ้นได้
ตามมาตรา 1506 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเห็นว่า สามีเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียว หากตรงข้ามภรรยาเป็นฝ่ายผิดแล้ว ศาลจะให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ภรรยาก็ไม่ได้กรณีที่ศาลกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ภรรยาตามมาตรานี้จึงเป็นไปตาม มาตรา 1594 นั้นด้วยซึ่งเป็นกำหนดตามที่ศาลพิจารณาเห็นสมควร ในวาระหนึ่งต่อมาเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงมีอำนาจที่จะสั่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามควรแก่กรณี โดยอาศัย มาตรา 1596นั้น
เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิ(เกี่ยวกับค่าเลี้ยงดู)ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลก็ไม่ต้องคำนึงถึงความผิดความถูกของฝ่ายใด จำนวนเงินมากหรือน้อยไปเพียงใด กรณีมิได้เป็นไปตาม มาตรา 1506 และ 1594 จึงจะยกเอา มาตรา 1596 ขึ้นมาปรับแก่คดีไม่ได้ เมื่อศาลบังคับคดีให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวและคดีถึงที่สุดไปแล้ว ข้อพิพาททั้งมวลก็ต้องยุติไปตามนั้น